เมื่อพี่สาวฉันพบหนังสือนิทานในวัยเด็กของเรา แม่ของฉันซึ่งตอนนี้อายุเจ็ดสิบปีแล้วรู้สึกดีใจมาก ท่านจำรายละเอียดตลกๆทั้งหมดของเจ้าหมีที่ขโมยน้ำผึ้งและถูกฝูงผึ้งที่โมโหไล่ล่าได้ ท่านยังจำได้ว่าฉันกับพี่หัวเราะกันขนาดไหนในขณะที่คอยลุ้นให้เจ้าหมีหนีไปได้ ฉันบอกแม่ว่า “ขอบคุณค่ะที่คอยเล่าเรื่องต่างๆให้ฟังตอนเรายังเด็ก” ท่านรู้เรื่องราวทั้งหมดของฉันรวมถึงสิ่งที่ฉันเป็นในวัยเด็กด้วย ตอนนี้ฉันโตแล้ว ท่านก็ยังรู้จักและเข้าใจฉัน
พระเจ้าก็เช่นกัน พระองค์ทรงรู้จักเราอย่างลึกซึ้งเกินกว่าที่มนุษย์คนใดจะสามารถรู้จักได้ รวมถึงตัวเราเองด้วย ดาวิดบอกว่าพระองค์ทรง “ตรวจสอบ” เรา (สดด.139:1) พระองค์ทรงตรวจสอบเราด้วยความรักและเข้าใจเราอย่างถ่องแท้ พระเจ้าทรงทราบความคิดของเรา ทรงเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังและความหมายของสิ่งที่เราพูด (ข้อ 2, 4) พระองค์ทรงสนิทสนมคุ้นเคยกับทุกรายละเอียดที่ทำให้เราเป็นเรา และพระองค์ทรงใช้ความรู้นี้เพื่อช่วยเรา (ข้อ 2-5) พระองค์ผู้ทรงรู้จักเรามากที่สุดจะไม่หันหลังใส่เราด้วยความไม่พอใจ แต่จะทรงเข้ามาหาเราด้วยความรักและพระปัญญาของพระองค์
เมื่อเรารู้สึกโดดเดี่ยว ถูกมองข้าม หรือถูกลืม เรารู้สึกมั่นคงได้ในความจริงที่ว่าพระเจ้าสถิตอยู่กับเราเสมอ ทรงมองเห็นเรา และรู้จักเรา (ข้อ 7-10) พระองค์ทรงรู้จักเราในทุกแง่มุมที่คนอื่นไม่รู้ และอื่นๆอีกมากมาย เราสามารถพูดด้วยความมั่นใจเช่นเดียวกับดาวิดว่า “พระองค์ได้...ทรงรู้จักข้าพระองค์...พระหัตถ์ของพระองค์จะนำข้าพระองค์ และพระหัตถ์ขวาของพระองค์จะยึดข้าพระองค์ไว้” (ข้อ 1, 10)
มิล่าเป็นผู้ช่วยในร้านเบเกอรี่ เธอรู้สึกว่าไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เมื่อหัวหน้ากล่าวหาว่าเธอขโมยขนมปังลูกเกด การกล่าวโทษโดยไม่มีหลักฐานและการหักเงินเดือนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการกระทำที่ไม่ถูกต้องมากมายจากหัวหน้าของเธอ “พระเจ้าข้า โปรดช่วยด้วย” มิล่าอธิษฐานทุกวัน “เป็นเรื่องยากมากที่จะทำงานกับหัวหน้าคนนี้ แต่ลูกต้องการงานนี้”
พระเยซูเล่าถึงเรื่องของหญิงม่ายที่รู้สึกจนมุมและแสวงหา “ความยุติธรรมแก่ [เธอ]ในการสู้ความ” (ลก.18:3) เธอหันไปหาคนมีอำนาจที่จะแก้คดีความของเธอ คือผู้พิพากษา แม้เธอจะรู้ว่าผู้พิพากษานั้นไม่มีความยุติธรรม เธอยังยืนยันที่จะเข้าไปหาเขา
การตอบสนองในท้ายที่สุดของผู้พิพากษา (ข้อ 4-5) นั้นต่างจากพระบิดาในสวรรค์ของเราโดยสิ้นเชิง พระองค์ทรงตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยความรักและการช่วยเหลือ ถ้าการยืนหยัดอย่างไม่ลดละทำให้ผู้พิพากษาอธรรมยอมช่วยหญิงม่ายแล้ว พระเจ้าองค์ผู้พิพากษาผู้เที่ยงธรรมจะสามารถและจะทรงทำเพื่อเรามากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด (ข้อ 7-8) เราวางใจให้พระองค์ “ประทานความยุติ-ธรรมแก่คนที่พระองค์ได้ทรงเลือกไว้” ได้ (ข้อ 7) และการยืนหยัดในการอธิษฐานเป็นหนึ่งในวิธีที่แสดงถึงความไว้วางใจของเรา เรายืนหยัดเพราะเรามีความเชื่อว่าพระเจ้าจะตอบสนองด้วยพระปัญญาอันบริบูรณ์ต่อสถานการณ์ของเรา
ท้ายที่สุดหัวหน้าของมิล่าลาออกหลังจากที่พนักงานหลายคนร้องเรียนถึงพฤติกรรมของเธอ ขณะที่เราดำเนินไปด้วยการเชื่อฟังพระเจ้า ขอให้เรายืนหยัดในการอธิษฐาน โดยรู้ว่าฤทธิ์อำนาจของการอธิษฐานนั้นอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ผู้ทรงได้ยินเราและช่วยกู้เรา
แอนดรูว์จอดรถโฟล์คสวาเก้นและเจ้าหน้าที่ก็เดินเข้ามา เขาอธิษฐานเช่นเคยเหมือนทุกครั้งว่า “ข้าแต่พระเจ้า เมื่อพระองค์ทรงอยู่บนโลกนี้ พระองค์ทรงทำให้คนตาบอดมองเห็นได้ บัดนี้ขอโปรดให้ดวงตานั้นมองไม่เห็นด้วยเถิด” เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นรถและไม่พูดอะไรเกี่ยวกับพระคัมภีร์ที่อยู่ในกระเป๋าเดินทางของเขาเลย แอนดรูว์ข้ามพรมแดนมาเพื่อส่งพระคัมภีร์ให้กับคนที่ไม่สามารถเป็นเจ้าของพระคัมภีร์ได้
แอนดรูว์ ฟาน เดอร์ เบลจ์ หรือบราเดอร์แอนดรูว์ พึ่งพาฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าสำหรับงานที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าทรงเรียกเขาให้ทำ นั่นก็คือการนำพระคัมภีร์ไปยังประเทศที่การเป็นคริสเตียนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย “ผมเป็นคนธรรมดา” เขากล่าว พร้อมกับย้ำถึงข้อจำกัดด้านการศึกษาและทุนทรัพย์ของตัวเอง “สิ่งที่ผมทำ ใครๆก็ทำได้” ปัจจุบันองค์กรของเขาที่ชื่อโอเพ่นดอร์ (Open Doors International) ได้ทำงานกับผู้เชื่อที่ถูกข่มเหงเพราะพระเยซูทั่วโลก
เมื่อเศรุบบาเบลผู้ว่าราชการของยูดาห์ เผชิญกับภารกิจที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่หลังจากที่ชาวยิวกลับจากการเป็นเชลย ท่านรู้สึกท้อแท้ แต่พระเจ้าทรงเตือนท่านไม่ให้พึ่งพากำลังหรือความสามารถของมนุษย์ แต่ให้พึ่งพาพระวิญญาณของพระองค์ (ศคย.4:6) พระองค์ทรงให้กำลังใจท่านผ่านนิมิตที่ทรงสำแดงต่อผู้เผยพระวจนะเศคาริยาห์เกี่ยวกับตะเกียงที่ได้รับน้ำมันจากต้นมะกอกที่อยู่ข้างๆ (ข้อ 2-3) เช่นเดียวกับตะเกียงที่ติดไฟเนื่องจากมีน้ำมันหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด เศรุบบาเบลและชนอิสราเอลก็สามารถทำงานของพระเจ้าโดยพึ่งพาฤทธิ์อำนาจที่มาจากพระองค์ได้ตลอดเวลา
เมื่อเราพึ่งพาพระเจ้า ขอให้เราวางใจในพระองค์และทำสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกให้เราทำ
เมื่อมีคนถามว่าฉันยินดีจะตอบรับทำงานในความรับผิดชอบใหม่ๆหรือไม่ ฉันอยากจะตอบปฏิเสธ ฉันคิดถึงความท้าทายที่จะตามมาและรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอจะทำงานเหล่านั้น แต่ขณะที่ฉันอธิษฐานและแสวงหาการทรงนำจากพระคัมภีร์และผู้เชื่อคนอื่นๆ ฉันก็ตระหนักว่าพระเจ้าทรงเรียกให้ฉันตอบตกลง ฉันได้รับความมั่นใจจากพระคัมภีร์ว่าความช่วยเหลือจะมาจากพระองค์ ดังนั้น ฉันจึงตอบรับงานนั้นแม้จะยังมีความกลัวอยู่บ้าง
ฉันเห็นภาพตัวเองในชนชาติอิสราเอลและผู้สอดแนมทั้งสิบคนที่ล่าถอยจากการเข้าไปยึดครองแผ่นดินคานาอัน (กดว.13:27-29, 31-33; 14:1-4) พวกเขามองเห็นความลำบากและสงสัยว่าพวกเขาจะเอาชนะผู้ที่มีกำลังในแผ่นดินนั้นและทำลายเมืองที่เป็นป้อมปราการนั้นได้อย่างไร “เราเหมือนเป็นตั๊กแตนโม” ผู้สอดแนมกล่าว (13:33) และชนอิสราเอลก็บ่นว่า “พระเจ้านำเราเข้ามาในประเทศนี้ให้ตายด้วยคมกระบี่ทำไมเล่า” (14:3)
มีเพียงโยชูวาและคาเลบเท่านั้นที่จำได้ว่าพระเจ้าทรงสัญญาจะมอบแผ่นดินคานาอันแก่ประชากรของพระองค์ (ปฐก.17:8; กดว.13:2) พวกเขามีความมั่นใจจากพระสัญญาของพระเจ้าและมองข้ามความยากลำบากที่อยู่เบื้องหน้า ไปยังการทรงสถิตและความช่วยเหลือของพระองค์ พวกเขาเผชิญความยากลำบากโดยพึ่งในฤทธานุภาพ การคุ้มครอง และทรัพยากรของพระเจ้า ไม่ใช่ของพวกเขาเอง (กดว.14:6-9)
งานที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ฉันทำนั้นไม่ง่าย แต่พระองค์ทรงช่วยให้ฉันผ่านมันไปได้ แม้เราจะหนีไม่พ้นความยากลำบากในการทำงานของพระเจ้า แต่เราสามารถเผชิญหน้ากับมันได้เช่นเดียวกับโยชูวาและคาเลบ โดยรู้ว่า “พระเจ้าสถิตฝ่ายเรา” (ข้อ 9)
ในจำนวนประชากรสามร้อยคนของเมืองวิททิเออร์ มลรัฐอลาสก้า เกือบทั้งหมดอาศัยรวมกันอยู่ในตึกอพาร์ทเม้นท์ขนาดใหญ่ และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เมืองวิททิเออร์ถูกเรียกว่า “เมืองใต้ชายคาเดียวกัน” เอมี่อดีตผู้พักอาศัยกล่าวว่า “ฉันไม่จำเป็นต้องก้าวออกไปนอกอาคารเลย ร้านขายของชำ งานทะเบียนของรัฐ โรงเรียน และที่ทำการไปรษณีย์อยู่ที่ชั้นล่างของตึก แค่โดยสารลิฟต์ไป!”
“เพราะว่าชีวิตที่นั่นสะดวกสบายมาก ฉันจึงอยากอยู่คนเดียวโดยคิดว่าไม่ต้องการใครเลย” เอมี่เล่า “แต่ทว่าผู้ที่พักอาศัยก็มีมิตรไมตรีมาก พวกเขาดูแลกันและกัน ฉันเรียนรู้ว่าพวกเขาต้องการฉัน และฉันก็ต้องการพวกเขา”
บางครั้งเราอาจเป็นเหมือนเอมี่ที่อยากจะเก็บตัวและเลี่ยงการเข้าสังคม คำหลังฟังดูเครียดน้อยกว่า! แต่พระคัมภีร์กล่าวว่าผู้เชื่อในพระเยซูควรมีสมดุลที่ดีระหว่างความสันโดษและการสามัคคีธรรมกับผู้เชื่ออื่นๆ อัครทูตเปาโลเปรียบผู้เชื่อกับร่างกายมนุษย์ อวัยวะแต่ละส่วนมีหน้าที่ที่แตกต่างกันฉันใด ผู้เชื่อทุกคนก็มีบทบาทที่แตกต่างกันฉันนั้น (รม.12:4) อวัยวะไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยลำพัง ผู้เชื่อก็ไม่อาจดำเนินชีวิตในความเชื่อโดยการปลีกตัวอยู่คนเดียวได้ (ข้อ 5) ในท่ามกลางชุมชนคือที่ซึ่งเราใช้ของประทานของเรา (ข้อ 6-8; 1 ปต.4:10) และเติบโตขึ้นเป็นเหมือนพระเยซู (รม.12:9-21)
เราต้องการกันและกัน การอยู่ร่วมกันของเรานั้นอยู่ในพระคริสต์ (ข้อ 5) เมื่อเรา “ดูแลกันและกัน” ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ เราก็สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระองค์และสำแดงความรักของพระองค์ให้ผู้อื่นได้เห็น
เมนูซึ่งขายดีที่สุดที่แผงอาหารของโจเซลินคือโจ๊ก เธอจะคนข้าวอย่างระมัดระวังจนได้เนื้อที่เนียนละเอียด เธอจึงแปลกใจเมื่อลูกค้าประจำพูดว่า “โจ๊กของคุณรสชาติเปลี่ยนไป เนื้อสัมผัสไม่ดีเหมือนก่อน”
ผู้ช่วยคนใหม่ของโจเซลินเป็นคนเตรียมโจ๊กครั้งนี้และอธิบายว่าทำไมมันจึงต่างจากเดิม “ฉันไม่ได้คนนานเท่ากับในสูตรอาหารเพราะฉันทำแบบนี้ที่บ้าน ฉันยังเติมน้ำมันงาเพิ่มด้วยเพราะฉันคิดว่ามันรสชาติดีกว่า” เธอตัดสินใจที่จะไม่สนใจสูตรอาหารและทำตามวิธีของตัวเอง
ในบางครั้งฉันก็ตอบสนองต่อคำสอนของพระเจ้าแบบเดียวกัน แทนที่จะเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ตามที่มีในพระคัมภีร์ทั้งหมด แต่ฉันกลับปรับมันตามความคิดของฉันและทำตามวิธีของตัวเอง
นาอามานผู้บัญชาการกองทัพซีเรียเกือบจะทำพลาดเช่นกัน เมื่อได้ยินพระดำรัสของพระเจ้าผ่านทางผู้เผยพระวจนะเอลีชาให้ไปล้างตัวในแม่น้ำจอร์แดนเพื่อจะหายจากโรคเรื้อน นายทหารผู้หยิ่งทะนงรู้สึกโกรธ เขามีความคาดหวังว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการมาด้วยวิธีใด โดยเชื่อว่าความคิดตัวเองดีกว่าคำสั่งของพระเจ้า (2 พกษ.5:11-12) แต่คนใช้ของเขาโน้มน้าวให้ฟังคำของเอลีชา (ข้อ 13) และผลคือนาอามานหายจากโรค
เมื่อเราทำตามวิธีของพระเจ้า เราก็ได้พบสันติสุขที่เกินคำอธิบาย ขอให้เราทำงานร่วมกับพระองค์ในการที่จะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จลุล่วง
เมื่อดร.ลี ศาสตราจารย์ในโรงเรียนพระคริสตธรรมของฉันสังเกตเห็นว่า เบ็นจี้ ผู้ดูแลโรงเรียนของเรามาร่วมรับประทานอาหารกลางวันสาย ดร.ลีจึงตักอาหารใส่จานแบ่งไว้ให้เขา ขณะที่ฉันกับเพื่อนนักศึกษาคุยกัน ดร.ลี ค่อยๆวางเค้กข้าวชิ้นสุดท้ายลงในจานสำหรับเบ็นจี้ แถมยังโรยมะพร้าวขูดให้เพื่อความอร่อย การแสดงความเมตตาเช่นนี้ของนักศาสนศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงเป็นหนึ่งในหลายๆตัวอย่างที่ฉันมองว่าเป็นการสำแดงออกถึงความสัตย์ซื่อที่ดร.ลีมีต่อพระเจ้า แม้ในอีกยี่สิบปีต่อมา ความประทับใจอันลึกซึ้งที่ฉันมีต่อท่านนั้นก็ยังคงอยู่
อัครสาวกยอห์นมีเพื่อนรักคนหนึ่งซึ่งทำให้ผู้เชื่อหลายคนประทับใจเช่นกัน พวกเขาพูดถึงกายอัสในฐานะผู้ที่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้าและพระวจนะ โดยดำเนินตาม “สัจจะนั้น” อย่างคงเส้นคงวา (3 ยน.1:3) กายอัสให้การรับรองผู้ประกาศข่าวประเสริฐที่เดินทางผ่านมา แม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนแปลกหน้า (ข้อ 5) ยอห์นจึงได้กล่าวแก่เขาว่า “เขาเหล่านั้นได้เป็นพยานต่อคริสตจักรในเรื่องความรักของท่าน” (ข้อ 6) ความสัตย์ซื่อของกายอัสต่อพระเจ้าและผู้เชื่อคนอื่นๆในพระเยซูได้ช่วยส่งเสริมการประกาศข่าวประเสริฐ
ผลกระทบที่ศาสตราจารย์มีต่อฉันและที่กายอัสสร้างไว้ในสมัยของเขาเป็นเครื่องเตือนใจอันทรงพลังว่าเราสามารถสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นได้ ซึ่งพระเจ้าจะทรงใช้ผลกระทบนั้นเพื่อนำพวกเขามาหาพระคริสต์ เมื่อเราเดินไปกับพระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อ ให้เราใช้ชีวิตและกระทำสิ่งที่ช่วยให้ผู้เชื่อคนอื่นๆได้ดำเนินไปอย่างสัตย์ซื่อกับพระองค์ด้วยเช่นกัน
หลังจากที่ภรรยาของเฟร็ดเสียชีวิต เขารู้สึกว่าตนเองจะทนต่อความเจ็บปวดนี้ได้ตราบใดที่ยังคงได้ทานอาหารเช้าทุกวันจันทร์กับเพื่อนๆ ผองเพื่อนวัยเกษียณช่วยยกชูจิตใจของเขา เมื่อใดก็ตามที่ความเศร้ามาเยือน เฟร็ดจะคิดถึงครั้งถัดไปที่จะได้สนุกกับเพื่อนๆอีกครั้ง โต๊ะหัวมุมของพวกเขาเป็นสถานที่หลบภัยจากความโศกเศร้าของเฟร็ด
แต่เมื่อเวลาผ่านไปการพบปะนี้ก็ยุติลง เพื่อนบางคนป่วย บ้างก็เสียชีวิต ความว่างเปล่าทำให้เฟร็ดแสวงหาการปลอบประโลมจากพระเจ้าที่เขาเคยพบเมื่อวัยเยาว์ “ตอนนี้ผมทานอาหารเช้าคนเดียวแล้ว” เขาบอก“แต่ผมเตือนตัวเองให้ยึดมั่นในความจริงว่าพระเยซูทรงอยู่กับผม และเมื่อผมออกจากร้านอาหาร ผมก็ไม่ต้องเผชิญกับวันที่เหลือตามลำพัง”
เช่นเดียวกับผู้เขียนสดุดี เฟร็ดค้นพบความปลอดภัยและการปลอบประโลมในการทรงสถิตของพระเจ้า “ที่ลี้ภัยของข้าพระองค์...ผู้ที่ข้าพระองค์ไว้วางใจ” (สดด.91:2) เฟร็ดได้รู้จักความปลอดภัยซึ่งไม่ใช่แค่ที่หลบซ่อนตัว แต่เป็นการทรงสถิตอันมั่นคงของพระเจ้าที่เราจะวางใจและพักสงบได้ (ข้อ 1) ทั้งเฟร็ดและผู้เขียนสดุดีพบว่าพวกเขาไม่ต้องเผชิญวันที่ยากลำบากเพียงลำพัง เราเองก็มั่นใจในการปกป้องและความช่วยเหลือจากพระเจ้าได้เช่นกัน เมื่อเราหันมาหาพระองค์ด้วยความไว้วางใจ พระองค์สัญญาว่าจะทรงตอบและอยู่กับเรา (ข้อ 14-16)
เมื่อชีวิตประสบความยากลำบาก เรามีที่หลบภัยหรือ “โต๊ะหัวมุม” ที่จะไปหรือไม่ ที่เหล่านั้นไม่คงอยู่ตลอดไปแต่พระเจ้าทรงอยู่ถาวรนิรันดร์ ทรงรอคอยที่เราจะเข้าไปหาพระองค์ผู้ทรงเป็นที่ลี้ภัยที่แท้จริงของเรา
“ทำไมหนูถึงได้อมยิ้มรสสตรอเบอร์รี่ แต่เขาได้รสองุ่น” หลานสาววัยหกขวบของฉันถาม หลานสาวและหลานชายสอนฉันตั้งแต่พวกเขายังเล็กว่า เด็กๆมักจะเปรียบเทียบสิ่งที่พวกเขาได้รับกับสิ่งที่คนอื่นได้รับ นี่หมายความว่าในฐานะป้าที่รักหลาน ฉันต้องใช้วิจารณญาณให้ดี!
บางครั้งฉันก็เปรียบเทียบสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ฉันกับสิ่งที่พระองค์ประทานให้ผู้อื่นเช่นกัน “ทำไมฉันถึงได้สิ่งนี้ และเขาได้สิ่งนั้น” ฉันถามพระเจ้า คำถามของฉันทำให้นึกถึงสิ่งที่ซีโมนเปโตรถามพระเยซูที่ทะเลสาบกาลิลี พระเยซูเพิ่งจะประทานการฟื้นฟูและการให้อภัยแก่เปโตรที่ได้ปฏิเสธพระองค์ก่อนหน้านี้ และตอนนี้ทรงกำลังบอกเปโตรว่าท่านจะถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยการพลีชีพเพื่อความเชื่อ (ยน.21:15-19) แต่แทนที่จะตอบรับคำเชิญให้ติดตามพระเยซู เปโตรกลับถามว่า “พระองค์เจ้าข้า คนนี้ [ยอห์น] จะเป็นอย่างไร” (ข้อ 21)
พระเยซูตรัสตอบว่า “เป็นเรื่องอะไรของเจ้าเล่า” และตรัสอีกว่า “เจ้าจงตามเรามาเถิด” (ข้อ 22) ฉันเชื่อว่าพระเยซูจะตรัสแบบนี้กับเราเช่นกัน เมื่อพระองค์ประทานการทรงนำในชีวิตด้านใดด้านหนึ่งของเรา พระองค์ทรงปรารถนาให้เราไว้วางใจในพระองค์ เราไม่ต้องเปรียบเทียบเส้นทางของเรากับเส้นทางของคนอื่น แต่เราจะติดตามพระองค์เท่านั้น
เป็นเวลากว่าสามสิบปีที่อัครสาวกเปโตรติดตามพระเจ้าในฐานะผู้นำที่กล้าหาญของคริสตจักรยุคแรก ประวัติศาสตร์ยังบันทึกไว้ว่าท่านโอบรับความตายภายใต้จักรพรรดิเนโรผู้ชั่วร้ายอย่างไม่เกรงกลัว ขอให้เราติดตามพระเจ้าอย่างมั่นคงและไม่สงสัย และไว้วางใจในความรักและการทรงนำของพระองค์เช่นกัน